top of page
Search
  • Writer's picturePimchanok Sripraphan

UX job hunt in Germany ฉบับละเอียยยยยด

Updated: May 4, 2021

สวัสดีชาว UXer :)

เราได้เริ่มทำงาน full-time งานแรกเมื่อเดือนกันยายน 2020 จนมาถึงปัจจุบันนี้ (เกือบจะปีนึงแล้ว~) ตำแหน่ง UX designer ใน game studio ที่ Cologne, Germany 🇩🇪

ขอท้าวความก่อนว่า เราย้ายมาอยู่เยอรมันตั้งแต่ปี 2016 เพื่อมาเรียนต่อ ป โท ด้าน M.Sc. Usability Engineering ที่ Rhine-Waal University of Applied Sciences นะคะ ไม่ได้หางานจากไทยแล้วบินมาทำงาน

เราใช้เวลา 4 ปีในการเรียนโท เพราะความต๊ะต่อนยอนของตัวเอง

จนกระทั่งส่งตัวจบช่วงต้นเดือน มีนา 2020 เรียนจบปุ๊ป โควิดมาปั๊บ แต่ไม่หวั่นค่ะเพราะคิดว่าเดี๋ยวแป้ปเดียวมันก็ผ่านไป (อยากกลับไปหัวเราะเยาะตัวเองตอนนั้นจัง 55555)


กว่าจะได้เริ่มชีวิตทำงานก็ใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือน ผ่านการสมัครงานไป 87 บริษัท ได้ผ่านไปสัมภาษณ์รอบแรก 8 ที่ ผ่านไปถึง design challenge 2 ที่ โดนปฏิเสธไป 38ที่ ไม่ตอบกลับอีกหลายยยยที่ เราเลยอยากจะมาแชร์ทั้ง how-to, do’s และ dont’s จากประสบการณ์ส่วนตัวค่ะ


เอาล่ะเข้าเรื่อง!!!


 


🚩 TL;DR — สำหรับคนขี้เกียจอ่าน

ตอนเขียนมันเพลิน น้ำอาจจะเยอะไปหน่อย แต่อยากให้รายละเอียดแบบหมดเปลือก

ใครขี้เกียจอ่าน เอาสรุปไปค่ะ

  • เยอรมันยังคงเป็นประเทศที่ยังไม่อังกฤษล้วน แม้ใน tech industry (ยกเว้น Berlin) เพราะฉะนั้นคนที่มีความรู้ด้านภาษามักจะได้เปรียบ และการหางานที่ใช้ภาษาอังกฤษล้วนไม่ง่าย

  • เว็บหางานหลักๆ: LinkedIn, Indeed, StepStone, Glassdoor, Xing … ประกาศให้โลกรู้ว่าหางานอยู่ อาจจะได้งานตาม networking event, speed hiring event

  • คู่แข่งเยอะมากกกก จะสมัครคือต้องไว

  • อย่าลืมคิดและศึกษาเรื่องเงินเดือนไว้ล่วงหน้า ส่วนใหญ่เราต้องให้ salary expectation ตั้งแต่ apply เลยค่ะ

  • เขียน cover letter อธิบายคุณสมบัติและความสามารถของตัวเองให้ตรงกับสิ่งที่เค้าระบุไว้ใน job description และ offer skill ของตัวเองให้ตรงกับ product/service และ culture ของบริษัท ... ขั้นตอนนี้ควรจะใส่ใจเขียนให้เจาะจงกลับบริษัทและตำแหน่งที่สมัคร มี template ได้ แต่อย่า copy paste เด็ดขาด

  • Portfolio ไม่ต้องโปรเจคเยอะ แค่เล่าแบบละเอียดๆ ตั้งแต่ Problem space/Challenge, User research, Ideation, UX solution และตบท้ายด้วย Learnings

  • ถึงแม้ว่าจะโดนเรียกสัมภาษณ์แล้ว อย่าเพิ่งชะล่าใจ ก้มหน้าสมัครต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะได้ job offer

  • Track ทุกงานที่สมัครไป เพื่อที่เราจะได้มีความเป็นระเบียบและไม่งุนงงในภายภาคหน้า

  • ซ้อม, ซ้อม และ ซ้อม การตอบคำถามสัมภาษณ์ ... พูดคำตอบออกมา ซ้อมหน้ากระจก ให้เกิดความเคยชิน เจอของจริงจะได้ไม่ประหม่าและมีความมั่นใจ

  • ถ้าทำ design challenge แล้วไม่ผ่านให้เมลไปขอ feedback ทันที และขออนุญาตเอาผลงานลง Portfolio

  • ดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจเยอะๆ "Don’t tie yourself worth with productivity" - Anna Akana อย่าผูกมัดคุณค่าตัวเองไว้กับ productivity … เรายังมีคุณค่าในตัวเองอยู่ถึงแม้ว่าเราจะโดนปฏิเสธก็ตาม

  • สร้างความมั่นใจและเชื่อมั่นในความสามารถของตัวเองก่อน แล้วคนอื่นก็จะเชื่อตาม Believe in yourself first, others will follow. — “You are contagious” - Vanessa V. Edwards


 


🔂 (Common) Hiring process for UX designer

Disclaimer: อันนี้เป็นการสรุป pattern hiring process จากการสมัครงานประมาณ 80 กว่าที่

ขอบอกก่อนว่าแต่ละที่อาจจะไม่เหมือนกัน แล้วแต่ culture, policy และขนาดขององค์กรนะคะ

สิ่งที่เราเองต้องเตรียมตัวก่อนเข้าวงจรการสมัครคือ เตรียม CV และ Portfolio ให้พร้อม และเตรียม list บริษัทที่เราอยากจะสมัครค่ะ

หลังจากนั้นก็เป็นการวนลูป

  1. Job application: ส่ง CV, Portfolio และเขียน Cover letter

  2. The get back & 1st Interview: สัมภาษณ์ครั้งแรก ส่วนใหญ่จะเป็นกับ HR ถ้าองค์กรเล็กหน่อยเป็น startup ก็อาจจะได้คุยกับ Founder, CEO, CTO, PO ... องค์กรใหญ่หน่อยอาจจะได้คุยกับ หัวหน้าแผนก UX, Senior Designer, PM

  3. 2nd to last round of interview: step นี้จะเป็นการสัมภาษณ์รอบลึกขึ้นเรื่อยๆ มีกี่รอบและได้คุยกับใครบ้างก็จะแล้วแต่บริษัทค่ะ

  4. Design challenge: หลังสัมภาษณ์ก็จะมี challenge มาให้เราโชว์ฝีมือเชิงปฏิบัติค่ะ พร้อม deadline ให้เราส่ง (และอาจจะมีนัด present)

  5. Trial day: ถ้าไม่มีโควิด บริษัทส่วนใหญ่ก็จะเชิญให้เค้ามาคุย มาเจอทีม ดูว่าเราเข้ากับ culture ได้ไหม บางที่ก็จะรวบ step design challenge มาอยู่ในขั้นตอนนี้เลยแต่ให้เวลาแค่ 2-3 ชั่วโมงในการทำ

  6. Job offer & Negotiation: ได้การตอบรับเข้าทำงาน พร้อมข้อเสนอต่างๆนาๆให้เรามานั่งขบคิด จะเอาดีมั้ยน้าาาา อิอิ


 

👀 What you need to prepare - know thy self รู้กึ๋นของตัวเอง เรียกความมั่นใจ


ก่อนจะเริ่มสมัคร เราเตรียม CV, Portfolio และ cover letter ร่างๆ

อีกสิ่งหนึ่งที่ควรให้ความสำคัญก็คือ Profile ต่างๆนาๆ เช่น LinkedIn และ Xing (LinkedIn เวอร์ชั่นเยอรมัน) เพราะว่านั่นจะเป็นที่ๆบริษัทจะมาส่องตอนเราสมัครงาน รวมไปถึง headhunter ด้วย


1. Telling the world who you are and what you can offer through CV and Portfolio

UX portfolio นั้น เราเลือกเปลี่ยนจากการมี PDF ธรรมดา มาเป็น Online portfolio เพราะมันสะดวก รวดเร็ว ลิงค์เดียวจบ เราไม่ได้แตะโค้ดแต่อย่างใด เราใช้บริการเว็บกึ่งสำเร็จรูปอย่าง Wix.com (ถูก ง่าย และเร็ว) แต่ก็มี service อื่นๆเช่น webflow, squarespace etc.

ในส่วนของ content นั้น เราได้อ่านและฟังมาจากหลายๆคนว่า มีผลงานที่น้อยแต่ลงลึก ดีกว่าผลงานเยอะจนเลือกดูไม่หมดและออกจาก port เราโดยที่จำอะไรเกี่ยวกับเราไม่ได้เลย ส่วนตัวเราคิดว่ามีโปรเจค UX 2-3 ตัวก็พอค่ะ แต่ละโปรเจคก็อธิบายขั้นตอนอย่างละเอียดตั้งแต่

  • Define problem space

  • User research

  • Ideation

  • UX solution

  • User testing (optional)

  • Learnings and Insights

อาจจะบวกกับโปรเจคเสริมที่เราทำสนุกๆ แต่สามารถนำมาช่วยการทำงาน UX ได้อย่างเช่น วาด storyboarding, sketching หรือถ้าใครสาย technical หน่อย มีโปรเจค coding เล็กๆ นี่อวดได้เลยค่าาาา

อย่างไรก็ดี สิ่งที่สำคัญนอกจากการมี content ที่ดี ที่บอกว่า “เรามีความรู้ด้าน UX นะ” ก็คือ การสื่อตัวตน, soft skills และความ “unique” ความน่าจดจำ ผ่านหน้าจออกมาให้มากและรวดเร็วที่สุด ลองคิดดูว่า การเป็น HR นั้นต้องผ่าน Job application เป็นร้อย คุยกับ Applicant เป็นสิบ สิ่งที่อยากแนะนำคือ เรียบง่ายแต่โดดเด่น

ตัวอย่าง Portfolio ที่เราว่า cool

อันนี้ของเรา ... ไม่ cool มาก ออกแนวบ้าบอ 55555



2. Salary expectation - เงินเดือนที่เราอยากได้ คำว่า Salary นี้หมายถึงเงินเดือนค่ะ แต่ที่นี่เวลาพูดถึงเงินเดือนเค้าหมายความว่ารายรับรายปีก่อนภาษีนะคะ แนะนำว่าให้ประเมิณตัวเองก่อนว่าเรามีประสบการณ์แค่ไหน อยู่ในระดับไหน (entry level, intermediate level, senior level) แล้ว average salary ของ UX ระดับนี้ในเมืองหรือประเทศที่เราอยู่คือเท่าไหร่ แล้วคิดตัวเลขเอาไว้ตามที่เราอยากได้ ตั้งไว้สูงกว่าที่จำเป็นนิดนึงเผื่อโดนต่อรอง แต่สูงเกินไปอาจจะโดน reject มาได้ อันนี้ขึ้นอยู่กับความ match และความยินยอมของแต่ละคน แต่ละบริษัทค่ะ เอาที่เราสบายใจและคิดว่าสามารถรับผิดชอบค่าใช้จ่ายและมีเงินเก็บสบายๆ แต่แนะนำให้มีตัวเลขที่อยากได้และเหมาะสมไว้ก่อนในใจเผื่อเวลาเค้าถาม แล้วก็สำหรับตัวเราเองในการดูบริษัทด้วยค่ะ


3. Don’t stop learning, and always be updated! เรียนจบแล้วใช่ว่าเราจะรู้ทุกอย่าง อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญในการเตรียมตัวสมัครงานก็คือการเรียนรู้(ให้เป็นนิสัย)อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น UX and UI Design trend, tools, framework อื่นๆ, ความรู้ด้าน data นิดๆ management หน่อยๆ รวมไปถึงเรื่อง Soft skill เช่น public speaking เพื่อการ presentation หรือแม้กระทั่งการ moderate workshop ในบริษัท หรือ ฝึกการแก้ conflict กับเพื่อนร่วมงาน หรือการ convince stakeholders ให้เห็นความสำคัญใน UX รับรองว่าถ้าเราแสดงให้เค้าเห็นได้ว่าเราเป็นคนชอบเรียนรู้ ชอบแก้ปัญหา และสื่อสารเป็น คนสัมภาษณ์ประทับใจแน่นอน (จะรับหรือไม่รับนี่อีกเรื่องนึงนะคะ 5555)

UX case study อ่านเพลินๆ ฝึกการวิเคราะห์: https://growth.design/case-studies/ Design resources to stay up to date: https://designresourc.es/


 


🎯 The hunting and chasing - วิ่งไล่มันจนกว่าจะไขว่คว้ามา


1. WHERE - งานมีไหนหมดดดดด

Online job portals

  • LinkedIn

  • Xing (LinkedIn เวอร์ชั่นเยอรมัน)

  • Indeed

  • Glassdoor

  • Stepstone

Others

  • Networking event

  • Speed hiring event

  • กลุ่ม Facebook หางานในเมืองนั้นๆ

  • กลุ่ม Expat community

  • โปรโมทตัวเองใน Social media และแม้กระทั่งเวลาเจอคนใหม่ๆด้วย ตอนนั้นได้รู้จักคนใหม่ๆ ใครถามว่าทำงานอะไร นี่ตอบเชิง pitch ตัวเองเลยว่าหางาน UX อยู่ค่าาาา


ขั้นตอนนี้คือต้องไวค่ะ เพราะคู่แข่งเยอะมากกกกกกก เห็น job post แบบ 1 day ago คนสมัครไปแล้วเป็นสิบ อาจจะเป็นเพราะโควิดด้วยที่ทำให้คนหางานเยอะกว่าบริษัทหาคน

ตอนนั้นเราเช็คทุกเช้าเลยค่ะว่ามีงานใหม่อะไรน่าสนใจมั๊ย บางวันนั่ง refresh ทุกๆ 2 ชม. ขอสมัครเยอะๆเข้าไว้ แต่ก็ควรดูดีๆด้วยค่ะ อย่าสมัครโดยไปประเมิณว่าเราจะชอบงานมั๊ย ถ้าได้สัมภาษณ์งานที่เราคิว่าไม่ชอบ ไม่อยากทำจริงๆ สุดท้ายเราปฏิเสธ มันก็จะเสียเวลาทั้งเราและเค้านะคะ


2. WHAT to consider — Read job description carefully

พอได้รายชื่อบริษัทและตำแหน่งที่เค้าประกาศสมัครแล้ว สิ่งที่ควรดูให้ละเอียดมากๆเลยคือ Job description ค่ะ อันนี้จะเป็นหนึ่ง list ที่เราสามรถมองเห็นได้ว่า เค้าต้องการอะไรและเรามีความสามารถ จุดแข็ง(strength) ที่จะไป match กะเค้าได้มากน้อยแค่ไหน

เอาจริงๆ เรามองว่าสมัครงานนี่เหมือนหาคู่เลยค่ะ นอกจากจะดูความสามารถแล้ว (capability) แต่ละฝ่ายต้องมั่นใจว่ามีความชอบพอต่อกัน เพราะทั้งสองฝ่ายต้องอยู่ด้วยกัน 8 ชม ต่อวัน 5 วันต่อสัปดาห์ และสามารถเข้ากันได้ (compatibility) ในเรื่องของการทำงาน เพราะฉะนั้นเราเองก็ต้องถามตัวเองด้วยว่า ทำงานที่นี่ culture แบบนี้ เพื่อนร่วมงานแบบนี้ เราชอบมั๊ย เนื้องานแบบนี้ น่าตื่นเต้นมั๊ย ท้าทายพอรึเปล่า เราจะเอาไปต่อยอดในอนาคต ไปเติบโตได้รึเปล่า เงินเดือนโอเคมั๊ย ... เราอาจจะไม่ได้ทุกอย่างที่เราอยากได้ ทุกสิ่งอย่างย่อมมีการประนีประนอมเสมอ ... แต่รวมๆแล้วลองถามตัวเองดูว่า “เรา happy มั๊ย” 💡Tip: ทำความรู้จักบริษัทให้ถึงแก่น สืบให้รู้ถึง product/service, กลุ่ม user คือใคร, team, culture ประวัติความเป็นมา เป็นยังไง แม้กระทั่ง UI/visual style เพื่อที่จะได้ปรับความรู้ ความสามารถของเราให้เค้ากับองค์กร ถ้าเราสามารถนำเสนอตัวเราใน context ของเค้าได้ มันจะทำให้เค้าสามารถเห็นเราเป็นส่วนหนึ่งของทีมได้ง่ายขึ้น


3. Write your cover letter — tailor it! หลังจากที่เราพอจะรู้จักบริษัทและรู้ว่าเค้ากำลังมองหาอะไรแล้ว เราก็ต้อเขียนจดหมายแนะนำตัวว่า

  • เราเป็นใคร, อยู่ที่ไหน, background เรียนอะไร ทำงานอะไรมาบ้าง

  • ทำไมเราถึงสมัครมาที่นี่ เรามี skill อะไรที่จะมา match สิ่งที่เค้ากำลังมองหาได้ (สิ่งที่เค้าระบุไว้ใน job description)

  • ทำไมถึงอยากทำงานที่นี่ เรามีความเชื่ออะไรที่ทำให้เราเห็นความหมายใน mission และ product/service ของบริษัทนี้

  • พร้อมกับเสนอ salary expectation, วันที่เราพร้อมเริ่มงาน และแปะลิ้งค์ portfolio ตบท้าย

Feedback ที่เราได้รับมาในการโดนปฏิเสธอย่างนึงคือ cover letter เราไม่เจาะจงมากพอ อันนี้คือความพลาดนึงที่เกิดขึ้นเกิดจากความขี้เกียจและหมดแรงจูงใจ สิ่งที่เราทำคือเขียนจดหมายแบบคร่าวๆ ว่าเราทำอะไรได้บ้าง แล้วเปลี่ยนชื่อบริษัทเอา แต่ความจริงแล้วควรจะเจาะจงว่าเรามีความสามารถ (hard skill) อะไรบ้างที่จะมาช่วยงานบริษัทนี้ product นี้ได้ เรามีคุณสมบัติ (soft skill)อะไรที่สามารถทำงานกับคนอื่นได้ และอะไรในตัวเราที่ทำให้เราสามารถเข้ากับบริษัทนี้ได้


4. Keep track of what you have applied — Stay organize, you got this! พอกดปุ่ม Apply ปุ๊ป สิ่งที่แนะนำให้ทำต่อมาคือบันทึกเอาไว้ค่ะ เราสร้างไฟล์ใน Google Sheet แล้วก็ track ชื่อบริษัท, industry, team size, position ที่สมัคร (ตามใน job description), location, วันที่สมัคร, ได้สัมภาษณ์ หรือ โดน reject, เหตุผลที่โดน reject


เพื่อที่เราจะได้มีความเป็นระเบียบและไม่งุนงงในภายภาคหน้า เช่นการสมัครรัวๆไป 80 กว่าที่อย่างเรา แล้วก็เพื่อที่เราจะได้มองเป็นภาพรวม จะได้เรียนรู้ว่าเราผิดพลาดอะไร แก้ไขตรงไหนได้บ้าง หรือว่าเป็นเพราะโชคมันไม่ช่วยเอาซะเลย 55555


 


💬 The Interviews and Design Challenges


1. Interview Preparation — Practice your answers ตอนนั้นมีเพื่อนอีกคนที่กำลังหางานด้วยเหมือนกัน เราเลยนัดกับเพื่อน รวบรวมคำถามที่เจอบ่อยๆ หรือแม้กระทั้งคำถามแปลกๆในการสัมภาษณ์งาน UX แล้วแชร์ให้กันและกัน หลังจากนั้นแต่ละคนก็นั่งเขียนคำตอบของตัวเอง แล้วพอมาเจอกันอีกรอบ ก็ฝึกด้วยกันเสมือนเป็นการสัมภาษณ์จริงๆ คนนึงถาม คนนึงตอบ สลับ role กันไป สิ่งที่สำคัญในการตอบคำถามคือตีโจทย์ให้แตกว่าเค้าถามมาเพราะอะไร คำตอบของเราสื่อ mindset ของเรามากน้อยแค่ไหน ตรงกับความต้องการและ culture ของบริษัทนั้นๆรึปล่าว Steps:

  1. ใช้เวลาคิด และ เขียนคำตอบที่เราคิดว่าดีและเหมาะสมที่สุดออกมา

  2. ฝึกฝนโดยการอ่านออกเสียง อ่านออกมาดังๆเพื่อสร้างความคุ้นเคยและความมั่นใจ

  3. ฝึกพูดหน้ากระจกพร้อมสังเกตุ body language ตัวเอง ดูว่าเวลาเราพูด สีหน้า การยิ้ม มีความมั่นใจรึปล่าว

  4. Iterate ไปเรื่อยๆจนกว่าคำตอบจะลงตัว พูดคล่องและเป็นธรรมชาติ พูดคำตอบออกมาได้โดยที่ไม่ต้องดูที่เขียนไว้ แล้วก็ไม่ต้องเป๊ะ แต่ใจความสำคัญเหมือนเดิม


Why: ส่วนตัวเรารู้สึกว่าพูดออกมาแล้วได้ฟังคำตอบตัวเอง แล้วก็กลับมาดูและแก้ไขอีกทีว่าคำตอบนี้ make sense รึเปล่าเพื่อที่จะพัฒนาให้เป็น candidate ที่น่าจดจำให้ได้มากที่สุด อีกอย่างคือขั้นตอนนี้เป็นการเตรียมตัวคำถามยากๆและฝึกตัวเองให้ไม่ panic ไม่ให้ลิ้นพันกัน ตอบไม่รู้เรื่องเพราะตื่นเต้นในเวลาที่โดนสัมภาษณ์จริงๆ เพราะว่าเรามีความคุ้นชินกับการเรียบเรียงคำตอบ คำพูด รวมไปถึงได้ฝึกใช้ ท่าทาง ภาษากายเพื่อสร้าง friendliness และ likability ไปด้วย

💡 Tip: ศึกษาก่อนวันสัมภาษณ์ว่าเรากำลังจะคุยกับใคร เค้าทำตำแหน่งอะไร มี background แบบไหน แล้วคิดว่าเราจะหา topic อะไรมาคุยกับเค้าไห้เค้ารู้สึกสนุกและนึกภาพเราทำงานร่วมกับเค้าได้ง่ายๆ

อย่างเช่น

  • ถ้ากำลังจะคุยกับ Founder/CEO: ศึกษาตัว product เอนคำตอบไปทาง vision คุยเรื่อง UX strategy ว่าจะช่วย business และ achieve vision ได้ยังไง

  • ถ้ากำลังจะคุยกับ Manager หรือคนในทีม: เอนคำตอบไปในแนวที่เราสามารถทำงานได้ในเวลาที่กำหนดและเคยทำงานกับ role อื่นมาก่อน ถามคำถามเพื่อที่จะเข้าใจ แสดงออกให้เห็นว่าเรามีความ proactive ปรับตัวง่าย และไม่กลัวการแก้ปัญหา

  • ถ้ากำลังจะคุยกับ (Senior) UX designer: เอนคำตอบไปทางหลักการ UX และความ creative ของเราเลย อาจจะต้องแน่นหน่อยเรื่อง research methods, design principals ตาม standard, UX metrics, ความใส่ใจและเข้าใจความเป็นมนุษย์ (cognitive science/human factors) และหมั่นสื่อสารกับเค้าว่าเราอยากพัฒนาด้านไหนใน field UX (แสดงออกถึง growth mindset และความพร้อมที่จะ learn และ unlearn)

เป็นต้น อันนี้เป็น list คำถามที่เรารวบรวมมา https://docs.google.com/document/d/1kXPZj78Ee4KGBc8DBE_sFsYzLnMifEZLlcjN3iuIORI/edit?usp=sharing

2. Design Challenges / Trial day — วันอวดฝีมือ

พอหลังจากการอวดฝีปากผ่านการคุยแล้วนั้น ก็ยังจะต้องอวดฝีมือผ่าน hands-on challenge เล็กๆด้วย เพื่อที่เค้าจะได้ดูว่าเราเข้าใจตัว product มากน้อยแค่ไหน design process เป็นยังไงถ้าได้ทำงานที่นี่จริงๆ ผลงานตรงกับที่เค้ามองหามั๊ย


ซึ่งบางทีก็จะมาในรูปแบบของการส่งโจทย์มาทางอีเมลแล้วระบุ deadline ในการส่ง ถ้าผ่าน ด่านต่อไปก็คือนัด present

อีกรูปแบบนึงก็จะเป็นการรวมกับ Trial day ก็คือ วันที่จะได้เจอ ได้พูดคุยกับทีม (ปกติแล้วเค้าจะให้เราไปที่ office แต่ช่วง covid ทุกอย่างคือ online หมด) แล้วจะให้เวลา 2-3 ชม ในการทำ challenge แล้วก็ present เลย

  • Getting a task ในนี้ก็จะเป็นโจทย์ ให้ problem space, requirement, และ deliverables สิ่งที่สำคัญกว่าความสวย หรือความสมบูรณ์แบบนั้นคือ process ของเรา บันทึกและอธิบายทุกขั้นตอน ให้เหตุผล เสมอว่าทำไมถึง design แบบนี้ ทำไมถึงตัดสินใจแบบนี้

  • Submission แล้วแต่บริษัทและช่องทางการส่งงานที่เค้าให้เรามาค่ะ แต่ถ้าเป็นการแนบไฟล์ธรรมดา เรามันจะจัดเรียงเอกสารให้เรียบร้อย น่าอ่าน แล้วก็แนบ link prototype ใน pdf ไปค่ะ

  • In case it’s a bad news ถ้าโดน reject ให้กอดตัวเอง 1 ที แล้วรีบ follow up เพื่อขอ feedback และเหตุผลว่าเรายังขาดอะไร และปรับปรุงตรงไหนได้บ้าง ไหนๆก็ทุ่มแรง ทุ่มใจ ใน challenge นี้ไปแล้ว ยังไงมันก็คืองานของเรา เราขอเค้าเอามาใส่ portfolio ไปเลยค่าาาา เสร็จแล้วก็วนลูปกลับไป apply งานใหม่ เย้เย้


 

💰 Last but not least - Job offer & Negotiation

ถ้ายังไม่ได้ Job offer ก็วนลูปกลับไป step 1-3 ใหม่นะคะ

แต่ถ้าสัมภาษณ์รอบสุดท้ายไปแล้ว ได้รับอีเมล “We would like to offer you ...” ก็เฮเลยค่าาา

อย่างแรกเลยคือ ยินดีด้วยค่ะ คุณได้ผ่านด่านหินสุดๆมาแล้ว ตอนนี้เหลือแค่การต่อรองให้ทั้ง 2 ฝ่ายแฮปปี้ที่จะร่วมงานกันค่ะ


ส่วนใหญ่รายละเอียดที่จะมากับ job offer ก็คือ

  • เงินเดือนก่อนภาษีต่อปี (Gross salary)

  • ข้อกำหนดวันลาพักร้อน (ส่วนใหญ่จะประมาณ 30วัน/ปี)

  • Benefit ต่างๆเช่น ส่วนลดตั๋วเดินทางในเมือง, training budget, คอร์สเรียนภาษาเยอรมัน, gym membership, อาหารเช้า/กาแฟ/ขนมฟรีที่ office, office outing (หรือตั๋วไป GamesCom ฟรีถ้าเป็นบริษัทเกม) etc.

  • ใน step นี้เราควรถามเค้าด้วยค่ะว่าเค้าเดินเรื่อง วีซ่า และ work permit ให้เราด้วยมั้ย

ขั้นตอนนี้เราเองก็ยังประสบการณ์ไม่เยอะ ต่อรองไม่เป็นเลย เค้าให้อะไรก็เอา (แต่ต้องไม่ต่ำกว่า salary expectation) เพราะตอนนั้นเราเหนื่อยมากแล้วกับการหางาน 55555


แต่เราคุยกับคนเยอรมันเค้าก็แนะนำให้ลองต่อรอง ลองถามดู อาจจะไม่ต้องเกี่ยวกับเงินเสมอไปก็ได้ อย่างเช่น สมมติเราให้ expected salary ไป 40k เค้า offer มา 35k เราอาจจะลองต่อรอง employee benefit อื่นๆ หรือ ขอวันลาพักร้อนเพิ่มก็ได้ค่ะ worst case ก็คือเค้ายืน offer เดิม เราก็แค่ก้มหน้ารับไปค่ะ ไม่ลองไม่รู้ อิอิ

ผ่านขั้นนี้แล้วอย่าลืมตบบ่าและกระซิบตัวเองเบาๆ ว่าเก่งมาก! ปิดซอยฉลอง!!! 🍻



 

🌻 It’s a hella rollercoaster ride …

เอาจริงๆ แค่การหางานในเยอรมันแบบปกตินี่ก็ยากอยู่ละ มาเจอโควิดอีก นี่คือขุด insecurities ทุกสิ่งอย่างออกมาพร้อมกันหมด

สิ่งที่เรารู้สึกส่วนใหญ่ในช่วงนั้นคือความ up and down ของ self-esteem ที่แท้ทรู

โดนปฏิเสธครั้งนึง นี่คือต้องเริ่มวงจร 5 stages of grief ใหม่

ช่วงที่เรา down คือ คิดลบ ร้องไห้ ไม่อยากตื่น ไม่อยากพยายามเพราะทำไปก็ไร้ประโยชน์ คิดว่าตัวเองไม่ดีพอ นั่งระบายเกือบชั่วโมงให้ headhunter ฟัง (นางน่ารักและให้กำลังใจเรามากๆ ขอบคุณค่ะะะะ //ซึ้ง)

กว่าจะเข้าขั้น acceptance ก็เอาตัวเองแช่อยู่ในช่วง depressed อยู่นาน


แต่ก็ยังไม่หยุดพยายาม (หยุดม่ายด้ายยย ตังม่ายมี ถถถ)

ฮึบขึ้นใหม่ กอดตัวเอง คุยกับคนรอบข้างที่เรารัก และ รักเรา

เพื่อนๆและครอบครัวคืออีกปัจจัยนึงที่สำคัญสำหรับเรา เพราะคนเหล่านั้นสามารถทำให้เราเห็นคุณค่าของตัวเราเอง ในวันที่เราไม่เห็นมัน


เหนื่อยใจหรือท้อก็พักได้ ให้เวลาตัวเองได้ recharge แต่อย่ายอมแพ้ค่ะ ฮึบๆ

“เราจะมีที่ ที่เป็นของเรา”

— แม่


สุดท้ายนี้ ...

จุดประสงค์คืออยากมาเล่าประสบการณ์ แชร์ข้อผิดพลาดและสิ่งที่เราได้เรียนรู้ เผื่อจะได้ช่วยคนอื่นที่กำลังหางานด้าน UX อยู่ หรือคนที่สนใจอยากมาทำงานที่เยอรมัน

ขอย้ำอีกครั้งว่านี่คือการสรุปจากประสบการณ์ส่วนตัว อาจจะมีบางที่ที่ process แตกต่างกัน และเราไม่ได้เป็น coach หรือจะสามารถรับรองได้ว่าทำตามเราแล้วจะได้งานชัวร์ๆ สุดท้ายแล้ว บริษัทที่เราได้งานคือ ได้มาแบบงงๆ สัมภาษณ์ชิวๆ (อาจจะเป็นเพราะว่ามันเป็นสายเกม ซึ่ง culture ใน industry นี้เราว่าค่อนข้างจะแตกต่างจาก industry อื่นที่เค้าหา mainstream UX Designer) แต่เราเชื่อว่ามันก็คือการสะสมความรู้ ความมั่นใจ และการฝึกซ้อมจากการสัมภาษณ์กับบริษัทอื่นๆนั่นแหละ มันเลยทำให้เราได้งานที่เราได้มา ต้องขอบคุณตัวเองเลยแหละที่ฝ่าด่านชีวิตนี้มาได้

ขอบคุณทุกบริษัทที่ปฏิเสธเรา เพราะตอนนี้เราแฮปปี้กะงานที่ได้มาก รู้สึกว่าดีแล้วที่โดนปฏิเสธงานก่อนๆ


 

ขอบคุณที่อ่านจนจบนะคะ ยินดีรับฟัง constructive criticism เพื่อการเขียนในครั้งต่อไปค่ะ

สู้ๆนะคะ และ ขอให้ทุกคนโชคดีค่ะ ✌️😊




5,223 views1 comment

1 Comment


Aung AKR
Aung AKR
Jan 04, 2022

สวัสดีค่ะ อยากขอคำแนะนำว่าที่เยอรมันมีมหาลัยที่สอนด้าน UX/UIหรือ HCI ระดับปริญญาโทที่ไหนบ้างคะ

Like
Post: Blog2_Post
bottom of page